เราคือใคร / Who are we ?

ประวัติมหาวิทยาลัยฟาฎอนี​

การก่อตั้งสถาบันในฐานะวิทยาลัย

แนวคิดในการสร้างสถาบันการศึกษาอิสลามระดับอุดมศึกษาในประเทศไทยเกิดขึ้นจากกลุ่มนักศึกษาที่กำลังศึกษาต่อระดับปริญญาโท-เอก อยู่ในประเทศซาอุดิอารเบีย อาทิ นายอิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา นายอิสมาแอ อาลี นายอับดุลฮาลีม ไซซิง นายญิฮาด บูงอตาหยง นายอาหมัดอูมาร์ จะปะเกีย โดยเห็นว่าสังคมมุสลิมในประเทศไทยมีความจำเป็นต้องมีสถาบันอุดมศึกษาอิสลามเพื่อทำหน้าที่ในการผลิตบัณฑิตให้มีความรู้คู่คุณธรรม อันจะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศสู่ความเจริญก้าวหน้าและมีความสงบสันติดั่งเจตนารมณ์ของอิสลามต่อไป

หลังจากรวบรวมเงินได้ประมาณหนึ่งล้านบาท ในปี พ.ศ. 2526 จึงได้ทำการส่งเงินดังกล่าวกลับมายังประเทศไทย และได้ก่อตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง ให้ชื่อว่า “คณะกรรมการการต่อตั้งโครงการวิทยาลัยอิสลามเอกชนภาคใต้” หลังจากได้พิจารณาความเหมาะสมของสถานที่ตั้งโครงการฯ แล้วคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้ตัดสินใจซื้อที่ดิน จำนวน 70 ไร่ 32 ตารางวา ณ บ้านโสร่ง หมู่ที่ 3 ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เพื่อเป็นสถานที่ก่อตั้งวิทยาลัย

ปี พ.ศ. 2532
การดำเนินการก่อสร้างสถาบันอิสลามศึกษาขั้นสูงแล้วเสร็จ อันประกอบด้วย อาคารเรียนและที่ทำการฝ่ายบริหาร มัสยิด ห้องสมุด หอพักอาจารย์ หอพักนักศึกษา และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ แต่การดำเนินงานโครงการฯ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2532-2539 ประสบกับความล่าช้าเนื่องจากขาดบุคลากรและงบประมาณ
ในเดือนเมษายน 2541
ฯพณฯ นาวาโทนายแพทย์เดชา สุขารมณ์ รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย โดยคำแนะนำของคณะกรรมการสถาบันอุดมศึกษาเอกชน อนุญาตให้มูลนิธิเพื่อการอุดมศึกษาอิสลามภาคใต้จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาประเภทวิทยาลัย ชื่อว่า “วิทยาลัยอิสลามยะลา” ตามใบอนุญาตเลขที่ 4/2541 และในเดือนกรกฎาคม ปีเดียวกัน ทบวงมหาวิทยาลัยได้มีคำสั่งที่ 114/2541 แต่งตั้งกรรมการสภาวิทยาลัยอิสลามยะลาชุดแรก และวิทยาลัยอิสลามยะลาได้จัดการประชุมกรรมการสภาวิทยาลัย เป็นครั้งแรกในวันที่ 27 เดือนเดียวกัน โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบแต่งตั้ง ฯพณฯ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ดำรงตำแหน่งนายกสภาวิทยาลัย นายอารีย์ วงศ์อารยะ ดำรงตำแหน่งอุปนายก ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา ดำรงตำแหน่งอธิการ ดร.อัฮมัดอูมัร จะปะเกีย ดำรงตำแหน่งรองอธิการฝ่ายวิชาการและกิจการนักศึกษา และนายมัสลัน มาหะมะ ดำรงตำแหน่งเลขานุการสภาวิทยาลัย
เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2541
ทบวงมหาวิทยาลัยได้มอบหมายให้ผู้แทนคณะกรรมการพิจารณาการขอเปิดดำเนินการหลักสูตรและการรับรองมาตรฐานการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน สาขาวิชานิติศาสตร์ และสาขาวิชาปรัชญา ศาสนาและประวัติศาสตร์ เดินทางมายังวิทยาลัยเพื่อพิจารณาศักยภาพความพร้อมและความเหมาะสมในการเปิดดำเนินการสาขาวิชาชะรีอะฮ์และสาขาวิชาอุศูลุดดีน ซึ่งทบวงมหาวิทยาลัยได้ให้ความเห็นชอบแก่วิทยาลัยอิสลามยะลาเปิดดำเนินการทั้งสองหลักสูตรได้ในปีเดียวกัน และมีการเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในเดือนพฤศจิกายน ในทั้งสองสาขาวิชาๆ ละ 100 คน และทางวิทยาลัยได้จัดงานวันสถาปนาวิทยาลัยขึ้น เพื่อประกาศการก่อตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งแรกในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
ปี พ.ศ. 2543
ด้วยการประสานงานของชีคอับดุลลอฮฺ บินหมัด อัลญาลาลีย์ กษัตริย์หัมดฺ บิน คอลีฟะฮฺ อาลษานีย์ ได้ทรงมีพระราชสาสน์ถึงประธานมูลนิธิเพื่อการอุดมศึกษาอิสลามภาคใต้ แจ้งว่าทรงมีพระราชประสงค์จะบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นเงิน 43,000,000 บาท (สี่สิบสามล้านบาท) เพื่อเป็นงบก่อสร้างอาคารสำนักงานอธิการ และอาคารเรียนรวม และรวมถึงระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็นต่าง 

การเปลี่ยนประเภทเป็นมหาวิทยาลัย

จากความพยายามในการสร้างคุณภาพให้กับการจัดการศึกษาของวิทยาลัยพบว่า สถานที่ตั้งของวิทยาลัยมีข้อจำกัดในด้านการขยายตัว ด้วยเหตุนี้คณะผู้บริหารจึงได้ดำเนินการทบทวนสถานที่สำหรับการขยายวิทยาลัย โดยมีมติที่จะนำที่ดินที่มีการจัดซื้อไว้ในตอนเริ่มโครงการครั้งแรกมาพัฒนาเพื่อรองรับการขยายตัวของวิทยาลัย โดยในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2543 มูลนิธิเพื่อการอุดมศึกษาภาคใต้ได้จัดพิธีวางศิลารากฐานเพื่อก่อสร้างอาคารสำนักงานอธิการ และอาคารเรียนรวม ณ โครงการจัดตั้งเมืองมหาวิทยาลัย บ้านโสร่ง ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานีขึ้น ภายใต้ความช่วยเหลือของกษัตริย์ หัมดฺ บิน คอลีฟะฮ อาลษานีย์ แห่งประเทศกาตาร์ โดยมีนายวันอาหมัด ปานากาเซ็ง ประธานมูลนิธิฯ เป็นประธานในพิธี มี ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการวิทยาลัย กรรมการมูลนิธิเพื่อการอุดมศึกษาอิสลามภาคใต้ กรรมการส่งเสริมกิจการวิทยาลัยอิสลามยะลา กรรมการบริหารวิทยาลัยอิสลามยะลา คณาจารย์ นิสิต นักศึกษา ผู้นำชุมชน แขกผู้มีเกียรติ และชาวบ้านจากบริเวณใกล้เคียงร่วมเป็นสักขีพยานกว่า 200 คน

28 กันยายน 2546
วิทยาลัยอิสลามยะลาได้ใช้ที่จัดตั้งใหม่ในการจัดพิธีประสาทปริญญาแก่ผู้สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2545 ซึ่งเป็นครั้งแรกของสถาบัน โดยมีผู้สำเร็จการศึกษาจำนวน 249 คน จาก 3 สาขาวิชา คือสาขาวิชาชะรีอะฮฺ สาขาอุศูลุดดีน และสาขาวิชาการสอนอิสลามศึกษา และได้รับเกียรติจากจุฬาราชมนตรี ฯพณฯ นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ เป็นประธานในพิธี
10 มีนาคม 2547
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยหม่อมศรีรัศมิ์ มหิดล ณ อยุธยา ทรงเปิดวิทยาลัยอิสลามยะลาอย่างเป็นทางการ ณ ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี โดยมีคณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากรวิทยาลัยอิสลามยะลา ข้าราชการ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป พร้อมใจร่วมให้การรับเสด็จฯ และได้รับเกียรติจากท่านจุฬาราชมนตรีได้เดินทางมาร่วมพิธีเปิดในครั้งนี้ด้วย
14 มิถุนายน 2550
วิทยาลัยอิสลามยะลาได้รับการอนุญาตเปลี่ยนชื่อและประเภท โดยได้รับการอนุญาตให้ เปลี่ยนชื่อและประเภทเป็น “มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา” ตามใบอนุญาตเลขที่ 5/2550 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2550 และในวันที่ 27 มิถุนายน 2550 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ให้เกียรติในพิธีมอบใบอนุญาต และเปิดป้ายมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา พร้อมกันนี้ได้จัดพิธีมอบปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่ ฯพณฯ ศ.ดร. อับดุลลอฮฺ บิน อัลมุหฺซิน อัตตุรกี เลขาธิการสันนิบาติโลกมุสลิม

การเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัย

31 ตุลาคม 2556
มหาวิทยาลัยอิสลามยะลาได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2556 ออกประกาศโดยกระทรวงศึกษาธิการ
4 พฤศจิกายน 2556
กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ลงในราชกิจจานุเบกษา ให้ทราบโดยทั่วกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save